อีอีซีหรือ Eastern Economic Corridor คือ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ ไทยแลนด์ 4.0 ที่ต่อยอดมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Seaboard) เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ) โดยมีเป้าหมายหลักในการส่งเสริมการลงทุน และยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตได้ในระยะยาว พื้นที่ของอีอีซี ประกอบไปด้วยพื้นที่เขต 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยทั้งสามจังหวัดนี้นับเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างช้านาน ทั้งยังเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ รวมทั้งยังเป็นกลุ่มเขตอุตสาหกรรมสำคัญอันดับต้นๆ ของประเทศ ที่มีทำเลอยู่ใกล้กับสนามบิน และท่าเรือที่มีตู้สินค้าผ่านมากที่สุดอันดับที่ 22 ของโลก
ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องมุ่งสู่การปฏิรูปเชิงโครงสร้าง โดยทุกๆ กระทรวงจะต้องจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน และต่อยอดโครงการต่างๆ ของรัฐบาลที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อพัฒนาให้เขตพื้นที่ อีอีซีมีความพร้อมสู่การเป็นเขตเศรษฐกิจของประเทศ ภาครัฐจึงมีโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาสาธารณูปโภค และแหล่งท่องเที่ยวไปพร้อมกันเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้อยู่อาศัยเดิม และรองรับการเจริญเติบโตในอนาคตรวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในพื้นที่เดิม และผู้ประกอบการที่จะเข้ามาลงทุนใหม่ ภายใต้การลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน โดยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในครั้งนี้ใช้งบประมาณไปถึง1.5 ล้านล้านบาท
จากที่กล่าวมาแล้วในข้างต้นนั้นย่อมส่งผลให้เกิดจำนวนประชากรในพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลต่อความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น และยังส่งผลต่อการผลิตสินค้าเพื่อการอุปโภค บริโภคอย่างต่อเนื่อง ผลกระทบนี้เองจะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในเขตพื้นที่ อีอีซี และธุรกิจที่มีผลกระทบโดยตรงก็คือธุรกิจค้าปลีก สิ่งสำคัญสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกชุมชนขนาดเล็กขนาดกลาง และธุรกิจวิสาหกิจชุมชน มีความจำเป็นที่ต้องเตรียมการเพื่อรองรับการเจริญเติบโตในอนาคตและผู้ประกอบการรายใหม่และนี้คือสิ่งที่ถ้าท้ายของผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกกับโอกาสที่อาจจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหรือตรงกันข้ามในขณะที่ภาครัฐมีนโยบายที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการที่จะเข้ามาลงทุนใหม่แล้วนั้น ผู้ประกอบการในพื้นเดิมก็ควรได้รับการพิจารณาในการส่งเสริมในการเตรียมความพร้อมจากภาครัฐเช่นกัน และนี้ก็เป็นโอกาสที่จะส่งเสริมไม่เพียงธุรกิจค้าปลีกแต่ยังจะส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
ธุรกิจค้าปลีกเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เข้ามามีส่วนส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เนื่องจาก ภาคค้าปลีกนั้นนับมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งมีสัดส่วน GDP คิดเป็นร้อยละ 16.1 หรือคิดเป็นอันดับที่สองรองลงมาจากภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นธุรกิจค้าปลีกจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของทั้งประเทศ และเศรษฐกิจในพื้นที่อีอีซีซึ่งส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของทั้งธุรกิจค้าปลีกในท้องถิ่น และธุรกิจค้าปลีกแบบโมเดิร์นเทรด ที่มีแนวโน้มจะเติบโตตามการขยายตัวของพื้นที่ อีอีซี สิ่งที่ภาครัฐควรพิจารณาส่งเสริมคือ
1.การส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการธุรกิจค้าปลีกให้เป็นธุรกิจค้าปลีกแบบโมเดิร์นเทรดมากขึ้น เช่น การนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในธุรกิจค้าปลีกเพื่อให้การดำเนินกิจการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ระบบการจัดการหน้าร้าน (POS),ระบบการจัดการคลังสินค้า, การติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อรักษาความปลอดภัย เทคโนโลยีด้านการจ่ายเงิน ซึ่งสิ่งที่กล่าวมานั้นล้วนแล้วแต่ส่งผลดีต่อการดำเนินกิจการ และสอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของธุกิจค้าปลีกทั่วโลก
2.การมีข้อมูลของผู้บริโภคที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจค้าปลีกธุรกิจค้าปลีกหลายรายที่วางแผนในการขยายสาขาเพื่อรองรับจำนวนประชากร และความต้องการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจชุมชนทั้งขนาดกลาง และขนาดเล็กโดยการจัดหาข้อมูลอันเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจให้แก่ผู้ประกอบการ อาทิ ข้อมูลการขยายตัวของประชากรในพื้นที่ อีอีซีรายละเอียดของกลุ่มประชากรโดยการนำเอา Big Data เข้ามาใช้ในการตัดสินใจในกิจการ ดังนั้นหากภาครัฐ และอุตสาหกรรมหันเข้ามาร่วมมือกันเพื่อร่างนโยบายให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของธุรกิจค้าปลีกในพื้นที่ อีอีซีแล้ว ก็ก่อให้เกิดการเจริญก้าวหน้าของธุรกิจที่ยั่งยืนนอกจากนี้ อีอีซียังเป็นต้นแบบในการพัฒนาเมืองเศรษฐกิจสู่ภูมิภาคอื่นๆ อีกด้วย
ดังนั้นหากพื้นที่กล่าวได้รับการส่งเสริมให้มีพื้นฐานด้านเทคโนโลยี และสาธารณูปโภคที่ดี ซึ่งก่อให้เกิดการขยายตัวของทั้งภาครัฐ เอกชน และครัวเรือนในพื้นที่ อีอีซีย่อมก่อให้เกิดเม็ดเงินจากการจับจ่ายใช้สอยอย่างมหาศาล ทั้งส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในเขตพื้นที่ อีอีซีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาครัฐควรเข้ามาวางนโยบายที่เหมาะสมกับพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ภายในประเทศ เพื่อช่วยให้การเติบโตของธุรกิจเป็นไปในทิศทางทีเหมาะสม โดยการดึงเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา
บทความโดย
ดร. ยุวรินธร ไชยโชติช่วง
ผู้อำนวยการศูนย์ ALL Retail
สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์