การปรับเปลี่ยนองค์กรในปัจจุบันมีแนวโน้มเข้าสู่ยุคแห่งเทคโนโลยี รูปแบบองค์กรต้องมีการปรับตัวให้ทันตามยุคสมัยและนำเทคโนโลยีมาช่วยเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจ เพื่อความสอดคล้องกับยุคสมัยที่ต้องการความรวดเร็วในการทำงาน องค์กรในประเทศไทยประมาณร้อยละ 36.80 มีการบูรณาการหรือดำเนินการเกี่ยวกับ Digital transformation คือ การนำเทคโนโลยีมาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องภายในองค์กรในส่วนการดำเนินงานและการบริการลูกค้า และมีเพียงร้อยละ 10.50 ที่มีกลยุทธ์ในการใช้ Digital transformation เพื่อเปลี่ยนแปลงตลาดและลูกค้าด้วยการสร้างโมเดลธุรกิจ หรือการบริการใหม่ องค์กรจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรในการทำงานร่วมกัน (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), 2562)
การนำพาองค์กรเพื่อดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในศตวรรษที่ 21 จำเป็นต้องมีองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้องค์กรผ่านช่วงของการปรับตัว เพราะในปัจจุบันโลกของการดำเนินธุรกิจต้องพบกับผลกระทบจากการทำลายล้างของเทคโนโลยีดิทัล (Digital Disruption Impact) โดยเฉพาะการปรับรูปแบบโครงสร้างองค์การในสภาวะการทำงานที่มีการแข่งขัน และการเปลี่ยนแปลงสูง ผู้บริหารจึงต้องรับบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร และมีความจำเป็นต้องเรียนรู้ในการบริหารจัดการอารมณ์ และสร้างสมดุลการทำงานให้เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม การวิเคราะห์จุดแข็งด้านศักยภาพของคนในองค์กรให้เต็มที่ ด้วยการส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ขององค์การให้รู้เท่าทันกระแสของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence: AI) ด้วยเครื่องมือที่ถูกต้อง และวัดผลได้ (กัลยา แก้วประเสริฐ, 2563)
การทำงานในรูปแบบเดิมๆ งานประจำที่มีกิจวัตรเหมือนเดิมซ้ำๆ ทำให้ขาดทักษะทางความคิด การเปลี่ยนผ่านขององค์กรจึงไม่อาจหมายความเพียงแค่การลงทุนซื้ออุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ(Information Technology: IT) ใหม่ๆ หรือการลงทุนด้านโปรแกรมและซอฟต์แวร์อันทันสมัยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ลงลึกไปถึงแก่นและหัวใจสำคัญของการดำเนินงาน คือ วัฒนธรรมองค์กรที่สอดคล้องกับการก้าวสู่การเป็นองค์กรยุคใหม่ได้อย่างยั่งยืน ในขณะที่ปัจจุบันมีการปรับรูปแบบการทำงานอย่างรวดเร็วที่เกิดขึ้น องค์กรจำนวนมากจำเป็นต้องให้พนักงานทำงานจากบ้านหรือ Working from Home การบริหารทีมงานที่ต้องทำงานจากบ้านเป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับองค์กร ผู้บริหาร และพนักงาน รูปแบบการทำงานอาจไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนทั้งในด้านการสั่งการ การติดตาม การแก้ปัญหา องค์กรต้องปรับตัวอย่างไร พนักงานต้องปรับตัวกับการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการทำงานมากขึ้น พนักงานในองค์กรต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้น (พัชรา โพธิ์ไพฑูรย์, 2563) รูปแบบทำงาน การประสานงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันส่งผลกระทบต่อการบริหารองค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความเปลี่ยนแปลงของการบริหารองค์กรธุรกิจในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ระบบการสื่อสารที่มีความสะดวกสบายกว่าเดิม ทักษะของบุคลากรในองค์กร วัฒนธรรมขององค์กรที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ในการบริหารจัดการจึงต้องมีการพัฒนาปรับปรุงเพื่อให้สามารถบริหารองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลยุทธ์การจัดการรูปแบบการทำงานเพื่อการพัฒนาสู่องค์กรยุคใหม่ จึงเป็นแนวทางในการพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลง องค์ประกอบของปัจจัยภายในองค์กรประกอบด้วย ทักษะด้านการบริหารอารมณ์และความคิด หรือที่เรียกว่า Soft Skill มีความสำคัญต่อการบริหารองค์กรในยุคดิจิทัล ด้านวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลโครงสร้างองค์ที่มียืดหยุ่น มีความคล่องตัว เป็นโครงสร้างองค์กรที่เหมาะสมในยุคดิจิทัล ด้านการสื่อสารในยุคดิจิทัลมีความรวดเร็วสูงและ จำเป็นต้องมีความโปร่งใสไม่แอบแฝงวาระซ้อนเร้นที่สร้างความสับสน ทุกคนในองค์กรต้องเห็นภาพเดียวกัน ด้านภาวะผู้นำโดยมุมมองของผู้นำต้องมีความเข้าใจในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กรอย่างแท้จริง กลยุทธ์การในการบริหารองค์กรยุคใหม่ให้ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องมีความเชื่อมโยงขององค์ประกอบทุกด้านอย่างชัดเจน ดังสามารถสรุปเป็นภาพรวมขององค์ประกอบกลยุทธ์การทำงานขององค์กรยุคใหม่
บทความโดย ดร.สายพิณ ปั้นทอง
ผู้ช่วยผู้อำนวยการหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต
สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์